จากการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) องค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ ในรูปแบบออนไลน์ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษา กสศ. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เราจึงต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติเชิงนวัตกรรมเพื่อเชื่อมช่องว่างดังกล่าว การแพร่ระบาดครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะกดปุ่มตั้งค่าการศึกษาใหม่ ต้องสนับสนุนครู เพราะครูมีความสำคัญต่อความปกติใหม่ (New Normal) ของการสอนและการเรียนรู้ เราต้องการครูที่มีคุณภาพ มองเห็นความต้องการนักเรียน สามารถปรับตัวและสรรหาวิธีช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ครูยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก จึงต้องหาแนวทางเพิ่มขีดความสามารถครูอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ด้านนางคยองซัน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้เด็กกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกต้องเลื่อนเปิดเรียนไปกว่า 1 ปี ในสองปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือบทบาทครู เป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสำหรับศตวรรษที่ 21 ทั้งตระหนักถึงสุขภาพจิตของเด็กนักเรียนทั่วโลกจากผลกระทบการปิดสถานศึกษา และความหวาดกลัวการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะเหตุนี้ องค์การยูนิเซฟได้เปิดตัวแคมเปญ Every Day is Mind Day เพื่อช่วยเด็กทั่วโลกรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต พร้อมสร้างบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตให้เป็นเรื่องปกติ พร้อมให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเรียนรู้วิธีรับมือกับเรื่องนี้
นายสุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุน กสศ. กล่าวว่า กสศ. ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วโลก และมุ่งสนับสนุนครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้เด็ก การหลุดจากระบบการศึกษาคือความท้าทายหลักของไทย ซึ่งข้อมูลชี้ว่ามีเด็กกลุ่มปฐมวัยหลุดออกจากระบบการศึกษารวม 4% ม.ปลาย 19-20% และสูงกว่า ม.ปลายถึง 48%.
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ